
บุญราศี มารีอา โดเมนิกา บรุน บาร์บันตินี
ผู้ตั้งคณะภคินีผู้รับใช้คนป่วยแห่งนักบุญคามิลโล (ซิสเตอร์คามิลเลียน)
มารีอา โดเมนิกา เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ.1789 ที่เมืองลุกกา ประเทศอิตาลี เป็นบุตรคนที่สองในจำนวนพี่น้องเจ็ดคนของ เปโตร บรุน และโจวันนา กรานุชชี บิดาของเธอ มีสัญชาติสวิส เป็นทหารรักษาการณ์ซึ่งประจำอยู่ที่เมืองลุกกา ส่วนมารดาของเธอ เป็นชาวเมืองลุกกา ทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน ทั้งสองเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยเมตตาจิตเป็นแบบอย่างด้านความประพฤติ มีความรัก และซื่อสัตย์ต่อกัน เมื่อมารีอา โดเมนิกา อายุ 12 ปี เธอสูญเสียบิดาที่รักไป และในระหว่างที่เธออายุ 10 – 14 ปี เธอต้องสูญเสียพี่ชายและน้องชายอีก 3 คน ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ที่ปวดร้าวนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของในวัยเยาว์ของเธอและครอบครัวเป็นอย่างมาก การอบรมสั่งสอนที่ได้รับมาจากครอบครัว ได้ช่วยสร้างบุคลิกลักษณะในตัวของ มารีอา โดเมนิกา ให้เป็นคนร่าเริง และเปิดเผย เธอมีความศรัทธาร้อนรนต่อแม่พระ เธอเป็นผู้มีใจเมตตากรุณาต่อผู้ตกทุกข์ได้ยาก เธอมักฝึกฝนทำพลีกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อถวายเป็นช่อบุปฝาแด่แม่พระ จนติดเป็นนิสัย
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เธอเป็นบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาดี น่ารัก และยังมีผมสีบรอนที่สวยงามอีกด้วย ตอนนั้นเธอมีอายุเพียง 14 ปี วันหนึ่งเธอตัดสินใจตัดผมมวยที่สวยงามของตนเองทิ้ง เพื่อจะได้เป็นที่น่ารังเกียจในสายตาของคนอื่น เมื่อเธออายุได้ 22 ปี เธอได้แต่งงานกับซัลวาโตเร บาร์บันตินี หลังจากที่เธอตั้งครรภ์ได้ไม่นาน สามีของเธอก็ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก เธอเจ็บปวดมาก แต่เธอยังคงยึดมั่นในความเชื่อ ความทุกข์ของเธอเริ่มจะเบาบาง เมื่อเธอให้กำเนิดบุตรชาย หนูน้อยลอเรนโซ ในเวลาเดียวกันเธอมีแรงกระตุ้นให้เปิดดวงใจของเธอ ไปคลุกคลีกับพี่น้องที่ต้องประสบความทุกข์อันเนื่องมาจากความป่วยไข้และความยากจน เธอเริ่มออกไปดูแลผู้ป่วยที่ยากจน แต่แล้วเธอก็ต้องประสบกับความทุกข์อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากบุตรชายของเธอได้เสียชีวิตลงเมื่อมีอายุเพียง 8 ปี แต่เธอยังคงรับใช้พระเจ้าในการอภิบาลผู้ป่วยต่อไป เธอทุ่มเทชีวิตในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เจ็บป่วยที่ถูกทอดทิ้ง เธอได้รวมตัวกับกลุ่มผู้อุทิศตน โดยได้รับการรับรองจากพระสังฆราชเมืองลุกกา ใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มสตรีแห่งความรักเมตตา” ขณะเดียวกันเธอก็ยังต้องทุ่มเททั้งกำลังกายกำลังใจ และกำลังทรัพย์ที่มีอยู่ และเริ่มก็ก่อสร้างอารามแม่พระเสด็จเยี่ยม และเธอก็ปรารถนาจะพักอยู่ในอารามนั้น พร้อมกับภคินีที่ดำเนินชีวิตในอารามซึ่งเธอเองมีฐานะเป็นฆราวาสผู้ก่อตั้งอาราม ในเวลาเดียวกันเธอก็ยังออกไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย และผู้ใกล้จะสิ้นใจข้างนอกอารามเช่นเคย เธอรู้สึกเป็นทุกข์ใจ เพราะยังไม่เข้าใจแน่ชัดถึงแผนการณ์ของพระเจ้าว่าจะให้เธอถวายตนแด่พระองค์ในอารามแม่พระเสด็จเยี่ยมฯ หรือควรจะอุทิศตนช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยอย่างเต็มเวลา เธอจึงเขียนจดหมายหาพระสงฆ์ 3 องค์ที่เธอรู้จัก ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์และความปรีชาฉลาด และพระสงฆ์ทั้ง 3 องค์ก็แนะนำให้เธอออกจากอารามและไปให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ แก่คนป่วยที่น่าสงสาร
ท่านเริ่มรวบรวมสตรีที่ไม่มีพันธะใด เข้ามาอยู่ในหมู่คณะของเธอ และเริ่มงานดูแลผู้ยากไร้ และรับใช้ผู้ป่วย เมื่อเวลาผ่านไปเริ่มมีเยาวชนหญิงหลายคนมาขอเข้าคณะด้วย เธอจึงได้ร่างพระวินัยสำหรับหมู่คณะ และได้รับการรับรองจากพระอัครสังฆราชแห่งเมืองลุกกา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1841 พระอัครสังฆราชก็ได้รับรอง “คณะภคินีพยาบาล” ของเธอ ต่อมาเธอมีโอกาสได้รู้จักกับนักบวชคณะคามิลเลียน และได้สนทนากันในเรื่องของจิตตารมณ์ที่ใกล้เคียงกันระหว่างคณะทั้งสอง จึงนำไปสู่การขอรับรองจากสันตะสำนัก เธอได้ฝากคณะของเธอไว้ภายใต้คำเสนอวิงวอนของพระมารดามหาทุกข์และในความอุปถัมภ์ของนักบุญคามิลโล ในวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1852 คณะของเธอก็ได้รับรองจากสันตะสำนัก โดยเรียกชื่อคณะของเธอว่า “ภคินีผู้รับใช้ผู้ป่วย”
ความยากลำบาก ความทุกข์ทรมานนานาชนิด ที่ท่านได้รับตลอดชีวิตของท่าน เป็นเหตุให้สภาพร่างกายของท่านทรุดโทรม จนในที่สุดเธอก็เสียชีวิตลงในวันที่ 22 พฤษภาคม ค.ศ.1868 หลังจากท่านเสียชีวิต ที่สุดแล้วสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศให้ท่านเป็นบุญราศี ในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1995
จากแบบอย่างของบุญราศี มารีอา โดเมนิกา สิ่งที่เห็นได้ชัดในตัวของท่านคือ ความรักและความเมตตาต่อผู้เจ็บป่วยและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ หลายครั้งที่ท่านต้องประสบพบเจอกับความทุกข์ทรมานใจในการสูญเสียบุคคลในครอบครัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ความรักและความเมตตาที่ท่านมีต่อผู้ป่วยก็ไม่เคยลดน้อยลง ท่านมุ่งมั่นที่จะก่อตั้งหมู่คณะ เพื่อออกไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจน มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่รอคอยการช่วยเหลือจากท่าน ตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้าที่พระองค์ทรงกระทำและทรงสอนเรา ให้มีความรักและเมตตาต่อผู้อื่น “จง เป็น ผู้ เมตตากรุณา ดังที่ พระ บิดา ของ ท่าน ทรง พระ เมตตากรุณา เถิด” (ลก. 6:36) พระเยซูคริสตเจ้าทรงเมตตาต่อผู้ป่วย และทรงรักษาเยียวยาคนเจ็บป่วยทุกชนิดเป็นจำนวนมาก พระองค์เสด็จมาเยียวยารักษามนุษย์ทั้งครบ ทั้งร่างกายและวิญญาณ พระองค์ทรงเป็นหมอที่ผู้ป่วยต้องการ (เทียบ มก. 2:17) ความเมตตาสงสารต่อบรรดาคนเจ็บป่วยที่ทนทุกข์ทรมานนั้นมากมาย จนพระองค์ตรัสว่าตนเองเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา พระองค์ทรงรักคนเจ็บป่วยเป็นพิเศษ และไม่หยุดยั้งที่จะทำให้บรรดาคริสตชนให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อบรรดาผู้ที่ทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความเมตตาสงสารนี้เป็นที่มาของพละกำลังที่ไม่รู้จักเหนื่อยเพื่อบรรเทาใจพวกเขา (CCC 1503).
คริสตชนทุกคนได้รับพระพรและมีพระจิตเจ้าเป็นผู้นำในการดำเนินชีวิต ผลของพระจิตเจ้าบอกให้เราปฏิบัติความรักและเมตตาต่อผู้อื่น “ส่วนผลของพระจิตเจ้าก็คือ ความรัก ความชื่นชม ความสงบ ความอดทน ความเมตตา ความใจดี ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน และการรู้จักควบคุมตนเอง เรื่องเหล่านี้ ไม่มีธรรมบัญญัติใดห้ามไว้เลย” (กท. 5:22 - 23) เราจึงควรปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรักและเมตตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาผู้เจ็บป่วย และผู้ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมปัจจุบัน ตามแบบอย่างของบุญราศี มารีอา โดเมนิกา โดยเริ่มจากบุคคลใกล้ ๆ ตัว ในครอบครัว ในโรงเรียน หรือในหมู่บ้านของเรา เราอาจจะไม่สามารถรักษาเขาให้หายป่วย หรือนำเงินมากมายไปให้เขาได้ แต่เราสามารถทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยการให้ความช่วยเหลือเท่าที่สามารถทำได้ หมั่นไปเยี่ยมเยียน พูดคุยให้กำลังใจ เอาใจใส่และปฏิบัติต่อเขาด้วยความรักและเมตตา มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ต้องการและรอคอยความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้าง สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ จะเป็นพละกำลังเพื่อบรรดาผู้ป่วยจะได้มีกำลังใจในการต่อสู้กับความเจ็บป่วย และเราเองก็จะได้รับพระพรและความรักความเมตตาจากพระเจ้าด้วยเช่นกัน “ผู้มีใจเมตตาย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา” (มธ. 5:7)